4.6.08

89.Seborrheic Dermatitis

โรคผิวป่วยหน้าหนาว
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.89

ผิวแห้ง และเหี่ยว คืออาการป่วยแรกเริ่มของผิวในหน้าหนาว
ซึ่งเกิดจากผิวขาดความชุ่มชื้น เพราะอากาศสัมพัทธ์หรือความชื้นรอบตัวน้อย
ทำให้ร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติ
ทำให้ผิวหนังชั้นบนหดตัว และแห้ง แตกเป็นริ้วรอยแบบร่องบางๆ
แล้วรู้สึกคันจนอยากเกา แต่พอเกา ก็จะยิ่งคันมากขึ้น
ทั้งนี้เพราะผิวที่แห้งนั้น จะไวต่อการระคายเคือง และแพ้ง่ายอยู่แล้ว
เนื่องจากธรรมชาติของผิวหนังนั้น จะต้องปิดสนิท
และต้องมีน้ำมันเคลือบผิวอยู่อีกชั้นหนึ่ง
เรียกว่า Natural barrier หรือ เกราะป้องกันผิว
แต่เมื่อผิวสูญเสียความชุ่มชื้นไปแล้ว เราก็ยังไม่ได้ดูแลป้องกัน
เมื่อคันมากขึ้น เกามากขึ้น ผิวก็จะเผยอขึ้น หรือแตกเป็นขุย
ทำให้เชื้อโรคจากฝุ่นละออง หรือส่วนผสมต่างๆ “ในครีมบำรุง” ซึมเข้าสู่ผิวเร็วขึ้น
จึงเกิดเป็นอาการแพ้ และระคายเคือง
ซึ่งเราเรียกโรคที่เกิดจากอาการผิวป่วยช่วงหน้าหนาวแบบนี้ ว่า
Seborrheic Dermatitis (หรือโรค seb derm)โรคเซ็บเดิม
จัดเป็นโรคประเภทเดียวกับโรคภูมิแพ้ ในตระกูลหอบหืด
หากแต่มีสาเหตุของการเป็นที่แตกต่างกัน

นั่นก็คือ โรคนี้เกิดจากเชื้อยีสต์บริเวณผิวเจริญเติบโตมากผิดปกติ
จนกระทั่งเกิดเป็นอาการ ผื่น บวมแดง คัน ลอกเป็นขุย
มักจะเริ่มต้นจากบริเวณร่องจมูก หัวคิ้ว หนังศีรษะ
กระทั่งลุกลามไปทั่วทั้งตัว
ซึ่งแน่นอนว่า จะพบมาก และกำเริบขึ้นในช่วงหน้าหนาว
เนื่องจากโรคนี้มีอากาศแห้งเป็นตัวกระตุ้น
คนไข้ด้วยโรคนี้จึงพบมากในเด็กทารก และผู้สูงอายุ
รวมทั้งผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ
หรือมีประวัติว่า คนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้

และที่สำคัญที่สุดก็คือ โรคนี้จะพบบ่อยในเชื้อชาติเอเชียมากกว่าเชื้อชาติอื่น
เนื่องจาก เชื้อชาติเอเชียมักเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้
ซึ่งปกติแล้ว คนกลุ่มนี้ควรจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง
รวมทั้งอาหารจากนมทั้งหลาย เช่น ชีส ซุป น้ำสลัดชนิดข้น โยเกิร์ต ฯลฯ

ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อกระเพาะย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้
ร่างกายก็จำเป็นต้องไปดึงเชื้อยีสต์ในลำไส้มาช่วยย่อยน้ำตาล
ทำให้มีจำนวนเชื้อยีสต์ในร่างกายมากขึ้น จนเรียกว่า Over Growth
เมื่อถูกกระตุ้นด้วยอากาศแห้งในหน้าหนาว
จึงทำให้โรคเซ็บเดิมกำเริบ และเกิดปวดไขข้อได้ง่าย

แพทย์จะรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเซ็บเดิม
ด้วยการออกใบสั่งยาลดการอักเสบ และยาฆ่าเชื้อยีสต์
อย่างไรก็ตาม เราควรจะป้องกันไม่ให้โรคเซ็บเดิมเกิดขึ้น
ด้วยการดูแลผิวพรรณ เพื่อสร้างปราการปกป้องคุ้มครองผิว
โดยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัดๆ
ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในการทำความสะอาดให้เหมาะกับสภาพผิว
เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางอย่างใช้ได้ผลดีในหน้าร้อน
แต่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ในหน้าหนาว

ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคนี้ ผู้ที่เคยมีอาการผิวหนังแห้งจนคันคะเยอ
จึงควรเลือกใช้ครีมเนื้อเข้มข้นชนิด Water in oil ในหน้าหนาวเสียแต่เนิ่นๆ
เพราะน้ำมันในครีมชนิดนี้ จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวได้นานขึ้น
แต่ถ้าอาการคันผิวหนังในหน้าหนาวยังไม่ทุเลาหลังใช้โลชั่นทาผิวปกติแล้ว
คุณก็ต้องพบแพทย์ในทันที

อย่าปล่อยให้โรคเซ็บเดิมได้โอกาสก่อตัวจนลุกลามขึ้น
เพียงเพราะคุณคิดง่ายๆ ว่า ไม่เป็นไร
“ถ้าคัน ก็เกา”
เพราะมันไม่คุ้มกันเลยถ้าคิดจะวางเดิมพัน
ระหว่างผิวพรรณของเรา กับโรคเซ็บเดิม
ด้วยความคิดง่ายๆ เพียงสั้นๆ ว่า
“ไม่เป็นไร”
สุดท้ายนี้ อย่าลืมล้างหน้าให้ถูกวิธี
โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดฟองน้อยที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
ด้วยการใช้น้ำลูบใบหน้าให้เปียกก่อน
แล้วจึงบีบครีมล้างหน้าใส่มือเพื่อให้ครีมเจือจางลง
จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหน้าแห้ง และระคายเคือง
จากนั้นก็ทาครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น

และตามติดด้วยการสร้างด่านปราการสำคัญในหน้าหนาว
ด่านที่ใครต่อใครพากันละเลย
เพราะคิดว่า “ไม่เป็นไร” อีกหนึ่งเรื่อง
นั่นก็คือ ทุกคน “ยังจะ” ต้องใช้ครีมกันแดดแม้จะอยู่ในช่วงหน้าหนาว
ความคิดที่ว่า หน้าหนาวไม่มีแดดนั้นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์
สมควรไปเรียน ป.4 ใหม่ เพราะหน้าหนาวนี่แหละตัวดีเลยค่ะ

เพราะแม้ช่วงเวลาแดดออกจะค่อนข้างสั้น
กระทั่งถึงไม่เห็นแสงแดดจ้าเลยก็จริง
แต่ในทุกช่วงกลางวันไม่กี่ชั่วโมงเหล่านั้น
รังสีอัลตราไวโอเลตชนิด UVA ก็ยังคงทำหน้าที่ “ทำลาย” อย่างเต็มพิกัด
ซึ่งถ้าคุณช่างสังเกตกันสักนิด ก็จะพบความจริงแบบเต็มๆ เลยว่า
หน้าหนาวนี่แหละที่ผิวหน้าของเราหมองคล้ำได้ง่าย และเร็วกว่าปกติ (ซะด้วย)

ทั้งนี้ก็เพราะรังสีชนิด UVA ที่เป็นต้นเหตุของความหมองคล้ำ
ยังคงแฝงเร้นอยู่อย่างเข้มข้นในชั้นบรรยากาศ
และจ้องจะตกกระทบผิวหน้าของเราอยู่อย่างขยันขันแข็งเช่นเดิม
เมื่อเราไม่ใช้ครีมกันแดด เพราะคิดว่า “ไม่เป็นไร ไม่มีแดด”
ก็เท่ากับเราเปิดประตูที่ควรกันข้าศึก
เป็นว่า ให้รุกล้ำเข้ามาส่องรังสีเกินพิกัดร้อยอย่างชนิดช่วยไม่ได้เลยทีเดียว

ดังนั้น จำไว้ค่ะว่า
ถึงจะหน้าหนาว ก็ยังต้องใช้ครีมกันแดด
เลือกครีมกันแดดที่มี SPF ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
เพื่อจะได้กันทั้งรังสี UV ชนิด B ที่มาจากแสงแดดนวลๆ จากแสงไฟนีออน
ซึ่งจะทำให้ผิวไหม้เกรียม
แล้วก็ได้โปรดเลือก PA (Protection Grade of UVA)
ตั้งแต่ 3 บวก (PA+++) ขึ้นไปเพื่อป้องกันรังสี UV ชนิด A
ซึ่งเป็นสาเหตุของความหมองคล้ำ
ที่สำคัญคือ
ต้องเลือกใช้ชนิดซึ่งไม่มี down time ในการสร้างประสิทธิภาพป้องกันด้วยนะคะ

แปลง่ายๆ ก็คือ
เลือกใช้ครีมกันแดดชนิดทาปุ๊บแล้วออกไปสู้ทุกรังสีได้ทันที
เป็นดีที่สุดค่ะ