29.6.08

113.Protecting Your Skin

ป้องกันผิวหนัง & สายตาจากแสงแดด
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.113


แคลิฟอร์เนียใต้เป็นถิ่นที่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์
ส่องตรงลงมาเกือบจะตลอดทั้งวัน
ยิ่งได้รวมกับลักษณะภูมิอากาศที่มีอาณาเขตติดทะเล
จึงทำให้เกิดเป็นอิทธิพลความชื้นจากน่านน้ำ
ซึ่งส่งผลให้แสงแดดตกกระทบโดยตรงต่อผิวหนังของเรา
แล้วในแสงแดดเหล่านั้นเอง ก็มีแสงอัลตราไวโอเล็ต
อยู่ประมาณ 3 ช่วงคลื่นใหญ่ๆ คือ

UVA มีความยาวคลื่น 400–315 นาโนเมตร
มีผลทำให้ผิวพรรณคล้ำ

UVB มีความยาวคลื่น 315–280 นาโนเมตร
ทำให้ผิวแสบแดงหลังจากโดนแสงแดด

UVC มีความยาวคลื่นน้อยกว่า 280 นาโนเมตร
ซึ่งมีพลังงานสูงที่สุด และอันตรายที่สุด แต่พบได้น้อย
เพราะบรรยากาศกรองไปหมดแล้ว
ทว่า.. เครื่องมือฆ่าเชื้อในน้ำดื่ม อาจปล่อยรังสีช่วงนี้ออกมาได้เช่นกันค่ะ

ทีนี้ เจ้ารังสีทั้ง 3 คือ UVA, UVB และ UVC
สามารถทำให้คอลลาเจนในผิวหนังเสื่อมสภาพได้
ซึ่งนี่คือเหตุเกิดริ้วรอยก่อนวัย

แต่ UVA มีความรุนแรงน้อยที่สุด
เพราะไม่สามารถก่อให้เกิดอาการแดดเผา (sunburn)
แต่น่ากลัวในแง่ที่สามารถแปลงสภาพ DNA
จนอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
แต่จุดนี้ ร่างกายก็สามารถป้องกันโดยการสร้างเม็ดสีเมลานินขึ้นมา
เพื่อป้องกันการทะลวงของ UV จึงทำให้ผิวคล้ำดำมากขึ้นนั่นเอง

อ้อ.. นอกจากมีผลเรื่องผิวหนังแล้วนะคะ
UV ยังเป็นอันตรายต่อดวงตาด้วยค่ะ โดยเฉพาะ UVB
จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า arc eye
คือรู้สึกเหมือนมีทรายเข้าตา
หรือถ้ารุนแรงกว่านั้น ก็อาจทำให้เป็นโรคต้อกระจก (cataract) ได้
ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นป้องกันค่ะ

แล้วคุณทราบมั้ยคะว่า แสงแดดช่วงไหนอันตรายที่สุด
คำตอบคือ 11.00–14.00 น. ค่ะ
เรียกว่า คือช่วงที่แสงแดดมีความแรงมากที่สุด
แม้จะโดนแค่ช่วงเวลาสั้นๆ
หรือจะเป็นวันที่อากาศครึ้ม หรือมีเมฆ ก็โปรดรับทราบว่า
ในวันเหล่านั้น
แสงแดดก็ยังสามารถส่องผ่านทะลุเมฆลงมาทำให้ผิวหมองคล้ำ
และมีอาการแสบแดงได้อย่างสบายๆ
แม้กระทั่งคุณจะยืนยันว่า อยู่ในที่ร่ม
เพราะคุณจะได้รับแสงสะท้อนจากผิวอาคาร พื้นน้ำ
หรือแม้กระทั่งหิมะ ก็สามารถสะท้อนแสงแดดมายังผิวหนังของเราได้เช่นกัน

ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องหันมาดูแล ใส่ใจ ปกป้องผิวจากแสงแดด
ให้มากขึ้น ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

1.เลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับกิจกรรมประจำวันของคุณ
เช่น ถ้าคุณมีกิจกรรมในช่วงเวลาที่แสงแดดรุนแรง
ก็ต้องใส่เสื้อผ้าสีอ่อน แบบหลวมๆ
และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ปกป้องแสงแดดจากธรรมชาติ
ที่ผ่านการทดสอบการแพ้แล้ว
และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสบางเบาในรูปโลชั่น หรือครีม
ด้วยค่า SPF30

2.เลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับสภาพผิว
ถ้าคุณเป็นสิวง่าย ก็ต้องมองหาผลิตภัณฑ์ที่รักษาสมดุลของซีบัมหรือน้ำมัน
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิว
และเนื้อผลิตภัณฑ์ควรบางเบา ไม่เหนียวเหนอะหนะ
เพราะอาจทำให้เกิดอุดตันง่ายขึ้น
ที่สำคัญ ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า
มีส่วนผสมของ AC Oil Control เพื่อลดสาเหตุของการเกิดสิว

คราวนี้ เมื่อเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดได้แล้ว
ก็มาถึงขั้นตอนการทากันแดดอย่างถูกวิธี
ซึ่งปกติแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะทาครีมกันแดดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ทำให้การกระจายตัวของเนื้อครีมไม่สม่ำเสมอ
จึงป้องกันได้ไม่ทั่วถึง

วิธีการทาครีมกันแดดในปริมาณที่เหมาะกับผิวหน้าคือ
ใช้เนื้อครีมขนาดเหรียญควอเตอร์
แล้วแบ่งครีมให้แตะครบ 5 จุดบนใบหน้า คือ

หน้าผาก
ปลายจมูก
คาง
บริเวณแก้มซ้าย และขวา

จากนั้น ค่อยๆ ใช้ปลายนิ้วไล้เนื้อครีมให้ครอบคลุมในจุดนั้นๆ
อย่าโปะครีมไปที่เดียว แล้วทากระจายออกไป
เพราะ.. มันผิดค่ะ

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งหัดใช้ครีมกันแดด
ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสบางเบา จะช่วยให้เกลี่ยได้เรียบเนียน
หลังจากนั้น ทาซ้ำอีกครั้งเมื่อจะต้องเผชิญแสงแดดจัดๆ
เนื่องจากในแต่ละชั่วโมงนั้น
ครีมกันแดดได้หลุดออกจากผิวของเรา
ผ่านเหงื่อ ผ่านการเช็ดถู ผ่านการใช้โทรศัพท์
และ ฯลฯ
ดังนั้น การทาซ้ำจะช่วยให้ผิวได้รับการปกป้องอย่างต่อเนื่อง
และคงประสิทธิภาพได้อย่างที่เราต้องการ

102.Eczema

โรคผิวหนังอักเสบ
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.102


โรคนี้ เกิดจากการอักเสบของผิวหนัง
และสามารถแสดงออกมาได้หลากหลายรูปแบบ
ขึ้นกับระยะของโรค
โดยมีสาเหตุที่เกิดขึ้น ดังนี้

สาเหตุจากภายนอกร่างกาย Exogenous หรือ Contact dermatitis
อันเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสกับผิวหนัง
ซึ่งแบ่งออกเป็น ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis)
พบได้ประมาณ 70-80%
และผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis)
ซึ่งพบได้ประมาณ 20-30%
โดยตัวเลขนี้มาจากการทดสอบภูมิแพ้ ผ่านกรรมวิธี Patch Test

ซึ่งสาเหตุที่เกิดจากภายนอกร่างกายนี้
ผื่นสัมผัสนับเป็นปัญหาสำคัญมากกว่าผื่นระคายสัมผัส
เพราะผื่นสัมผัสเกิดจากสารที่เป็นสาเหตุอันอาจจะมาจากการประกอบอาชีพ
(เช่น โลหะ, ผลิตภัณฑ์ยาง, กาว)
เครื่องสำอาง
(เช่น น้ำหอม, สารกันบูด, น้ำยาย้อม หรือดัดผม)
หรือเกิดจากสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
(เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แม้กระทั่งน้ำยารีดผ้าเรียบ)
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดโอกาสที่จะสัมผัสได้อย่างง่ายดาย
ทั้งยังหลีกเลี่ยงได้ลำบาก

สาเหตุจากภายในร่างกาย Endogenous eczema
เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยโรคในกลุ่มนี้ จะเรียกชื่อ
ตามลักษณะของผื่น สาเหตุที่เกิด และบริเวณที่เป็น
อาทิเช่น
Atopic dermatitis, Seborrheic dermatitis, Discoid
หรือ Number dermatitis เป็นต้น

อาการของผู้ป่วยจากลักษณะของผื่น แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะเฉียบพลัน (Acute stage)
เริ่มต้นเป็นตุ่มแดง, ตุ่มน้ำ อาจมีอาการบวมแดง
และมีน้ำเหลืองด้วย

2. ระยะปานกลาง (subacute stage)
อาการบวมแดงจะลดลง และมีสะเก็ด
หรือขุย ร่วมด้วย

3. ระยะเรื้อรัง (Chronic stage)
ผื่นจะมีลักษณะหนา, แข็ง
และมีลายเส้นของผิวหนังชัดเจนขึ้น (Lichenification)
นอกจากนี้แล้ว
ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันร่วมด้วย
ซึ่งถ้าผู้ป่วยเกา ก็จะยิ่งทำให้เกิดผิวหนังอักเสบมากขึ้น
และเวลาที่อาการของโรคหายไปก็จะทิ้งร่องรอยของรอยด่างดำไว้ได้

การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการรักษาตามระยะของผิวหนังที่เกิดการอักเสบ
เช่น
1. การรักษาในระยะเฉียบพลัน:
จะประคบผื่นด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำยา Burrow 1:40
หรือ Boric Acid 3% วันละ 3-4 ครั้ง
เมื่อผื่นแห้งดีแล้ว ต้องหยุดประคบ
มิฉะนั้นจะแห้งเกินไปจนทำให้ตึงและแตกได้

2. การรักษาในระยะปานกลาง:
ใช้ยาทาสตีรอยด์ตามลักษณะและตำแหน่งที่เป็นผื่น

3. การรักษาในระยะเรื้อรัง:
ใช้ยาทาสตีรอยด์ และหรืออาจผสมพวก Salicylic Acid
หรือในรายที่เป็นผื่นหนาแข็ง ก็อาจจะจำเป็นต้องฉีดยาที่บริเวณผื่นนั้นๆ

ในส่วนของผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคันมากๆ
อาจจะต้องมียารับประทานชนิด Antihistamine ควบคู่ไปด้วย
ส่วนยาทาภายนอกที่มี Antihistamine นั้น ไม่ควรใช้
เพราะยาทาภายนอกชนิดนี้ จะมีโอกาสแพ้ได้มาก

และถ้าเป็นกรณีระยะเฉียบพลันที่รุนแรงมาก
ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยารับประทานชนิด Steroid ร่วมด้วย

การแบ่งระยะโรคผิวหนังอักเสบที่นำเสนอไปเบื้องต้นนั้น
เป็นประโยชน์ในแง่การวิเคราะห์โรค
และรักษาเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ผู้ป่วยยังจำเป็นจะต้องพบแพทย์ผิวหนัง
เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดใด
และมีการดำเนินของโรคเป็นอย่างไร
รวมทั้งเพื่อจะได้รับทราบว่า ควรจะปฏิบัติตนเช่นไรด้วย
เพราะโรคผิวหนังอักเสบส่วนมากนั้น
มักจะเป็นกันนาน แบบค่อนข้างเรื้อรัง
ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจ ก็อาจจะทำให้เกิดความเครียด
ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งทำให้โรคผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ
และอาจนำไปสู่การอักเสบเรื้อรังถาวรได้ในที่สุด

105.Basic Skin Care Needs

การดูแลผิวตามหลักการแพทย์
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.105

ผู้หญิงแทบทุกคนต่างมุ่งหวังที่จะมีผิวพรรณสดใส เนียน นุ่ม
ปราศจากจุดด่างดำ และรอยเหี่ยวย่นใดๆ
สรุปง่ายๆ ก็คือ อยากให้ผิวสวยนานที่สุดเท่าที่จะนานได้
ดังนั้น จึงเกิดการแสวงหาวิธีการต่างๆ นานาในการรักษาผิว
บ้างก็เรียนรู้จากญาติพี่น้อง
บ้างก็เรียนจากเพื่อน
แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักเชื่อตามที่ช่างเสริมสวยเขาว่ากัน
เพราะคิดไปว่า ช่างเสริมสวยเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความงาม

จริงอยู่ ว่าช่างเหล่านี้มีประสบการณ์และความเชื่อต่างๆ กัน
จนเกิดเป็นเคล็ดลับการดูแลผิวพรรณมากมายหลายขนาน
แต่ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผิวหนัง
ขออธิบายว่า การปฏิบัติตามสูตรลับต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการพอกหน้าด้วยโคลนไข่ขาว หรือผลหมากรากไม้ชนิดต่างๆ
ตลอดจนถึงการใช้ครีมสารพัดชนิด
การทำเบบี้เฟซ และการรับประทานอาหารเสริมต่างๆ นั้น
ถ้าใครเชื่อทุกสูตร แล้วนั่งทำตั้งแต่เช้าจรดเย็น
ก็คงไม่ครบทั้งหมด

แล้วก็โชคดีที่ธรรมชาติได้ให้ผิวที่มีความทนทานสูงมากๆ
ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงไม่มีปัญหาใดๆ ในการทรมานผิวหนังเช่นที่ว่า
หากก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำตามสูตรต่างๆ
แล้วเกิดปัญหาเสียเงินทองมาให้แพทย์รักษา
นานเป็นเดือนๆ กว่าจะหาย

ซึ่งถ้าหากถามแพทย์ผิวหนังว่า
คนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นโรคอะไรนั้น
ควรจะดูแลรักษาผิวอย่างไร จึงจะสวยได้นานที่สุด
ก็ขอสรุปเป็นเคล็ดการดูแลรักษาผิวที่สำคัญๆ ได้ 3 ข้อ ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงแสงแดดให้มากที่สุดเท่าที่จะหลบได้
เพราะแสงแดดเป็นสิ่งเดียวในธรรมชาติที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง
ทั้ง กระ ฝ้า ขี้แมลงวัน รอยกร้านดำต่างๆ
ตลอดจนเนื้องอก และมะเร็งหลายชนิด
และสิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ
แสงแดด ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็เป็นอันตรายต่อผิวหนังทั้งสิ้น
และไม่มียากันแดดชนิดใด (ที่คนเรายินยอมใช้)
จะสามารถป้องกันแดดได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

2.หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดผิวมากเกินไป
แรงโฆษณาในปัจจุบันนี้ จูงใจให้คนเราหลงเชื่อว่า
ความสกปรกเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หลายๆ คนจะชอบฟอก ชอบขัดหน้าบ่อยๆ
และบางคนก็ฟอกจนหน้าถลอก
ขนาดว่า เกิดอาการแสบๆ คันๆ ก็ยังคงฟอกอยู่ทุกวัน
วันละหลายๆ รอบก็มี

ความจริงแล้ว ไม่มีโรคผิวหนังอะไรเลย
ที่เกิดจากความสกปรกสะสมหมักหมมอย่างที่คิดกัน
ดังนั้น การล้างหน้าเบาๆ เพียงวันละ 2 ครั้ง
ก็เพียงพอแล้ว
ยิ่งถ้าเป็นคนผิวค่อนข้างแห้ง ก็ไม่จำเป็นต้องล้างด้วยสบู่ยา
หรือน้ำยาทำความสะอาดผิวใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะการใช้สบู่ยา หรือน้ำยาเช็ดทำความสะอาด
ถือเป็นสิ่งที่มากเกินความจำเป็น
และก่อให้เกิดอาการระคายเคืองจนมีอาการแสบและคันได้ง่ายดายที่สุด

3.หลีกเลี่ยงการบำรุงผิวผิดวิธี
ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า
สาเหตุสำคัญของริ้วรอยเหี่ยวย่น
ตลอดจนรอยกร้าน ดำ กระ ฝ้าต่างๆ นั้น
เป็นผลมาจากพิษสะสมของแสงแดด
ไม่ใช่เกิดจากขาดการบำรุงแต่อย่างใด
ดังนั้น การใช้ครีมบำรุง
โดยไม่เคยเหลียวมองครีมกันแดดอย่างจริงจัง
จึงเป็นการรักษาที่ไม่ถูกจุด
ชนิดพูดได้เลยว่า "เกาไม่ถูกที่คัน"
การดูแลรักษาผิวอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ จึงมีข้อเดียว
คือ หลีกเลี่ยงแดดอย่างสุดชีวิต
และอย่าทำตัวให้สะอาดเกินไป
ที่สำคัญ จงใช้ครีมทากันแดด
และเมื่อมีริ้วรอยเหี่ยวย่น แล้วอยากจะรักษาให้ดีขึ้น
จึงจะเป็นเวลาที่ต้องใช้ตัวยา 2-3 ชนิดเข้ามาช่วยด้วย
เช่น กรดวิตามินเอ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การดูแลผิวอย่างถูกวิธี.. เพียงเท่านี้
นอกจากจะช่วยให้ผิวดีจริงๆ
(แบบพิสูจน์ได้) แล้ว
ยังประหยัดทั้งเงินและเวลาอีกด้วยค่ะ

5.6.08

103.Herpes

‘เริม’ ภัยจากไวรัสที่กำราบได้
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.103

คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคเริมมาก่อน
แต่น่าแปลกที่คนพูดถึงกันน้อย ในขณะที่มีคนเป็นโรคนี้กันมาก
บางคนอาจกำลังสงสัยว่า ติดโรคนี้เข้าให้แล้วหรือเปล่า
เพราะมีคนนับล้าน ที่เคยมีอาการของโรค
และเกิดความรู้สึกผิด หรือวิตกว่า
โรคเริมจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถรักษาโรคเริมให้หายขาดได้
แต่ก็ประคองโรคได้ และสามารถใช้วิธีป้องกันที่จะทำให้โรคนี้
ไม่กลับมากำเริบซ้ำอีกเลย

โรคเริมไม่ใช่โรคใหม่
เพราะมีการบันทึกถึงโรคนี้มาตั้งแต่ยุคโรมันโบราณ
สมัยจักรพรรดิทิเบอเรียส
ซึ่งออกกฎหมายห้ามการจูบกันในที่สาธารณะ
เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคเริมบริเวณริมฝีปาก

แต่ในปัจจุบัน ทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับในอดีต
จึงทำให้การติดเชื้อเริมสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สิ่งนี้คงเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเริมบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์พุ่งสูงขึ้น
จนกลายเป็นหนึ่งในโรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์
ที่พบได้มากที่สุดในปัจจุบัน

เริม คืออะไร
เริมเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสเล็กมากชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อ “herpes”
ซึ่งมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวตลอดชีวิตของมัน
คือการเพิ่มจำนวน
โดยมันจะหลอกล่อให้เซลล์ของร่างกายสร้างไวรัสจำนวนมากขึ้นมา
เพื่อให้เชื้อไวรัสเฮอร์ปี่แพร่กระจายไปยังเซลล์ข้างเคียงได้

ซึ่งเชื้อ herpes มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ

Herpes simplex virus 1 (HSV-1)
มักเกิดบริเวณปาก และผิวหนังเหนือสะดือขึ้นไป
ถ้าเกิดที่ปากเรียกว่า Herpes labialis
โรคนี้ไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Herpes simplex virus 2 (HSV-2)
เชื้อชนิดนี้ จะเกิดบริเวณอวัยวะเพศ
และติดต่อโดยเพศสัมพันธ์ เรียกว่า Herpes genitalis
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และอยู่ในชั้นของผิวหนัง
มันจะแบ่งตัว และทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำ
เกิดการอักเสบ
หลังจากนั้น เชื้อจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ปมประสาท ganglia เป็นเวลานาน
โดยที่ไม่มีการแบ่งตัว
จนกว่าจะมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม
จึงจะเกิดการแบ่งตัวทำให้เกิดอาการเป็นซ้ำ

อาการของการติดเชื้อ herpes simplex
เริ่มต้นจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน
ตรงตำแหน่งที่ได้รับเชื้อ บวม มีตุ่มน้ำ ใส สีแดง
ถ้าขึ้นใกล้ต่อมน้ำเหลือง ก็จะทำให้เกิดเป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
ซึ่งอาการการติดเชื้อที่ปาก และที่อวัยวะเพศจะเหมือนๆ กัน
เพียงแต่ขึ้นคนละที่เท่านั้น
โดยอาการจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

การเป็นครั้งแรก Primary Infection
ระยะปลอดอาการ Latency and Shedding
อาการกลับเป็นซ้ำ Recurring Infections

ทุกๆ คนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ herpes simplex
เพราะเชื้อโรคนี้ สามารถติดต่อถึงกันได้ด้วยการสัมผัส
โดยมันจะแทรกเข้าทางเยื่อบุ หรือผิวหนังที่ถลอกเป็นแผล
แล้วก่อให้เกิดผื่นเริมใน 2-20 วันหลังรับเชื้อ

ที่สำคัญ คือ
ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนของการติดเชื้อ herpes simplex ได้
ในผู้ที่ตั้งครรภ์ แล้วได้รับเชื้อนี้อาจจะเกิดการแท้ง
คลอดก่อนกำหนด
เด็กเจริญเติบโตช้า โดยเฉพาะการติดเชื้อใกล้คลอด
นอกจากนั้น หากเชื้อที่อยู่ในระยะ Latency
และเกิดการแบ่งตัว ผู้ป่วยจะเริ่มต้นที่ปวดศีรษะ อาเจียน และมีไข้
หรือรุนแรงถึงขั้นมีโรคแทรกซ้อน ปอดบวม ตับอักเสบ สมองอักเสบ
และถ้ามีการติดเชื้อที่ตา อาจทำให้ตาพร่ามัว
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจจะทำให้ตาบอดได้

การวินิจฉัย
ทำโดยการซักประวัติ และตรวจร่างกาย
เมื่อพบผื่นดังกล่าว ก็จะมีการเพาะเชื้อไวรัส
โดยการนำน้ำใต้ตุ่มใสไปเพาะเชื้อ
และนำเนื้อเยื่อไปส่องตรวจโดยกล้องจุลทัศน์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคเริม?

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลเริม
เพราะอาจแพร่เชื้อไปสู่บริเวณอื่นของร่างกายหรือติดต่อผู้อื่นได้

2.ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หลังเข้าห้องน้ำ
อย่าขยี้ตา

3.เมื่อมีแผลเริมที่ริมฝีปาก ห้ามจูบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก ผู้หญิงมีครรภ์

4.งดการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มมี “อาการเตือน” จนกระทั่งแผลหาย
เพราะเป็นช่วงปล่อยเชื้อถึงแม้ใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่ปลอดภัย 100%

92.Cautery

โรคที่สามารถรักษาด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.92

เมื่อวงการแพทย์คิดค้น และประดิษฐ์เครื่องจี้ไฟฟ้า หรือ Cautery ขึ้นนั้น
ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในการผ่าตัดเล็กๆ
แต่ต่อมา เมื่อเห็นผลการผ่าตัดที่ทำได้อย่างรวดเร็ว
และ ไม่มีเลือดออก
จึงเริ่มนำเครื่องจี้ไฟฟ้ามาใช้ในการรักษาผิวหนังที่มีปัญหาเล็กๆ
จนกระทั่งได้ผลดีมาตราบจนทุกวันนี้

สาเหตุที่ทำให้เครื่องจี้ไฟฟ้ากลายเป็นเครื่องมือวิเศษ
ก็เพราะการจี้ด้วยเครี่องมือไฟฟ้า เป็นการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า
ให้กลายเป็นพลังงานความร้อน
เพื่อทำลาย หรือขจัดเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการออกไป
โดยการใช้ความถี่ช่วงคลื่นอินฟราเรดระยะไกล
(far-infrared light) 10,600 nm ซึ่งดูดซึมได้ดีในน้ำ

ดังนั้น เมื่อผิวหนังของคนเราประกอบด้วยน้ำถึง 80%
จึงทำให้พลังงานที่ปล่อยออกมาจากเครื่องจี้ไฟฟ้าเกือบ 90%
หรือประมาณ 20-50 ไมโครเมตร
สามารถดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อของผิวหนังเรา
และทำให้เกิดความร้อน
จนกระทั่งหลอดเลือดหด และแข็งตัวอย่างรวดเร็ว
จึงทำให้ไม่มีเลือดออกมาจากการใช้เครื่องมือนี้ในการรักษาโรค

และโรคที่สามารถรักษาได้โดยเครื่องจี้ไฟฟ้า ก็มี
อาทิ.. เช่น

Adenoma (ก้อนไขมันอุดตัน)
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
ที่เชื่อมต่อ กับต่อมรูขุมขน ที่เกิดการหลุดลอกไม่หมด
จนเหลือเศษเซลล์ผิวหนังอุดต่อมรูขุมขน
ทำให้ไขมันที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกาย
ไม่สามารถผ่านสู่ผิวหนังภายนอกได้
จึงเกิดเป็นก้อนไขมันอุดตัน คั่งค้างอยู่ในต่อมไขมัน และท่อรูขุมขน
หรือจะเรียกว่า Closed Comedone
หรือ สิวอุดตัน ประเภทสิวหัวปิด ก็ได้

Sebaceous Gland Hyperplasia (SGH หรือ ต่อมไขมันโต)
เกิดจากความผิดปกติของต่อมไขมัน
ที่พบได้ในทุกอายุ
มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีค่อนข้างเหลือง ขนาด 2-3 มม.
พบบ่อยบริเวณใบหน้า รูขุมขนบริเวณจมูก แก้ม หน้าผาก

Seborrheic Keratosis (กระเนื้อ)
เกิดจากการเจริญเติบโตมากผิดปกติของผิวในชั้นหนังกำพร้า
เชื่อกันว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุ
จึงมักพบในคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
และยิ่งมีอายุเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ และเพิ่มจำนวนขึ้น
พบบ่อยบริเวณใบหน้า ลำคอ ศีรษะ หน้าอก และหลัง
โดยในระยะแรกจะเป็นตุ่มเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน
แล้วจะค่อยๆ ขยายใหญ่ นูนหนา สีเข้ม และผิวขรุขระขึ้น

นอกจากนี้
เครื่องจี้ไฟฟ้าก็ยังสามารถใช้รักษาในคนไข้
ที่เป็นโรค Wart (หูด)
Nevus (ไฝ)
Lentigines (ขี้แมลงวัน)
Milia (สิวข้าวสาร)
และ Syringoma (สิวหิน) อีกด้วย

จึงกล่าวได้ว่า เครื่อง Cautery นั้น
มีบทบาทคล้ายใบมีดผ่าตัดในคนไข้ที่มีความผิดปกติของผิวหนังไม่มาก
โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะตัดสินใจว่า
คนไข้รายใดควรจะรักษาด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน
คนไข้ทุกคนควรจะซักถามรายละเอียด
ถึงผลการรักษา
ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น
และค่าใช้จ่ายที่คุณต้องใช้ในการรักษาอย่างถี่ถ้วน.. ด้วย
เช่นกัน

4.6.08

90.Skin cancer

โรคมะเร็งผิวหนัง
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.90

“มะเร็ง” 2 พยางค์เพียงเท่านี้
ก็มีอานุภาพเพียงพอที่จะสะกดให้คนไข้หวาดหวั่นขวัญผวา
จนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับทุกรายเลยทีเดียว
เพราะความร้ายกาจของมัน
สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง ทั่วทั้งสรรพางค์กาย
ไม่ว่าจะ.. อวัยวะภายนอก หรือภายใน
และแม้กระทั่งในส่วนที่เป็น "ผิวหนัง"
แต่มะเร็งผิวหนังนั้น
แม้จะมีชื่อว่า เป็น "มะเร็ง" ก็ตามที
หากความร้ายกาจของมัน ก็ยังไม่กระไรนัก
ถ้า.. ถ้ามีอาการผิดปกติ
แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาแต่แรกเริ่ม
รายไหนรายนั้น ก็ยังมีสิทธิ์หายได้
หากที่เกิดการเสียชีวิตกันขึ้นมานั้น
ก็เพราะไม่ค่อยจะมีผู้สนใจในเรื่องโรคของผิวหนัง
จึงมักปล่อยไว้จนอาการรุนแรง ขนาดกินเข้าไปถึงกระดูก
จนทำให้จมูกกลวง หรือตาบอดกันเลยทีเดียว
อาการแรกเริ่มของมะเร็งผิวหนัง
จะเริ่มต้นขึ้นด้วยการเป็นแผลธรรมดาๆ
ไม่เจ็บ ไม่คัน
และเท่าที่พบบ่อยๆ ก็มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ

BCC. (BASAL CELL CARCINOMA)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด
แต่สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้จริงๆ นั้นไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด
นอกจากจะสังเกตได้ว่า
ผู้ที่ถูกแสงแดดมากๆ ถูกรังสีเอกซเรย์บ่อยๆ
หรือผู้ที่รับประทานยาที่มีสารหนูมากๆ
จะมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าบุคคลประเภทอื่น

ตำแหน่งที่พบมะเร็งชนิดนี้บ่อยที่สุด ได้แก่
หนังตา หลังหู
ที่สำคัญคือ มักพบในคนไข้ที่มีวัยเกิน 40 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่
แต่ยังมีข้อควรดีใจได้ว่า
มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่มีการลุกลามไปที่อื่น
ดังนั้น เมื่อเป็นแล้วก็รีบรักษา
โรคก็จะหายขาดได้

SCC. (SQUAMOUS CELL CARCINOMA)
เป็นชนิดของมะเร็งผิวหนังที่พบน้อยกว่า BCC.
แต่ร้ายแรงกว่า BCC. เล็กน้อย
เพราะ SCC. อาจลุกลามไปตามต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงได้
ซึ่งผู้ที่รับประทานยาที่มีสารหนูมากๆ
ผู้ที่ถูกแสงแดดจัดๆ เป็นเวลานาน
ผู้ที่มีแผลเรื้อรัง มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้ง่าย
และตำแหน่งที่พบมะเร็ง SCC. ก็ได้แก่
ใบหน้า ริมฝีปาก ใบหู และที่ขา
มะเร็งชนิดนี้ ต้องตรวจพบแต่เนิ่นๆ
คือเป็นในระยะแรกๆ แล้วรีบรักษา
ก็มักจะหายขาดได้เช่นกัน

MM. (MALIGNANT MELANOMA)
พบน้อยที่สุดในจำนวนมะเร็งผิวหนังทั้ง 3 ชนิด
แต่กลับเป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงที่สุด
โดยประมาณครึ่งหนึ่งของมะเร็งชนิดนี้
กลายมาจากไฝธรรมดา
และเป็นได้ทุกแห่ง
รวมทั้ง มักจะมีการลุกลามไปตามต่อมน้ำเหลือง
ไปตามกระแสเลือด
ไปยังอวัยวะที่สำคัญๆ เช่น ตับ ไต สมอง
ซึ่งถ้ามะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะที่สำคัญดังกล่าวข้างต้นแล้ว
ทางรอดก็น้อยลง

ดังนั้น ถ้าผู้ใดสงสัยว่า
ตัวเองจะเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือมีไฝที่ดูแล้วน่าสงสัย
ทางที่ดีที่สุดก็คือ รีบไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
เพื่อจะได้ปลอดภัยจากมะเร็งผิวหนังทุกชนิด

89.Seborrheic Dermatitis

โรคผิวป่วยหน้าหนาว
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.89

ผิวแห้ง และเหี่ยว คืออาการป่วยแรกเริ่มของผิวในหน้าหนาว
ซึ่งเกิดจากผิวขาดความชุ่มชื้น เพราะอากาศสัมพัทธ์หรือความชื้นรอบตัวน้อย
ทำให้ร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติ
ทำให้ผิวหนังชั้นบนหดตัว และแห้ง แตกเป็นริ้วรอยแบบร่องบางๆ
แล้วรู้สึกคันจนอยากเกา แต่พอเกา ก็จะยิ่งคันมากขึ้น
ทั้งนี้เพราะผิวที่แห้งนั้น จะไวต่อการระคายเคือง และแพ้ง่ายอยู่แล้ว
เนื่องจากธรรมชาติของผิวหนังนั้น จะต้องปิดสนิท
และต้องมีน้ำมันเคลือบผิวอยู่อีกชั้นหนึ่ง
เรียกว่า Natural barrier หรือ เกราะป้องกันผิว
แต่เมื่อผิวสูญเสียความชุ่มชื้นไปแล้ว เราก็ยังไม่ได้ดูแลป้องกัน
เมื่อคันมากขึ้น เกามากขึ้น ผิวก็จะเผยอขึ้น หรือแตกเป็นขุย
ทำให้เชื้อโรคจากฝุ่นละออง หรือส่วนผสมต่างๆ “ในครีมบำรุง” ซึมเข้าสู่ผิวเร็วขึ้น
จึงเกิดเป็นอาการแพ้ และระคายเคือง
ซึ่งเราเรียกโรคที่เกิดจากอาการผิวป่วยช่วงหน้าหนาวแบบนี้ ว่า
Seborrheic Dermatitis (หรือโรค seb derm)โรคเซ็บเดิม
จัดเป็นโรคประเภทเดียวกับโรคภูมิแพ้ ในตระกูลหอบหืด
หากแต่มีสาเหตุของการเป็นที่แตกต่างกัน

นั่นก็คือ โรคนี้เกิดจากเชื้อยีสต์บริเวณผิวเจริญเติบโตมากผิดปกติ
จนกระทั่งเกิดเป็นอาการ ผื่น บวมแดง คัน ลอกเป็นขุย
มักจะเริ่มต้นจากบริเวณร่องจมูก หัวคิ้ว หนังศีรษะ
กระทั่งลุกลามไปทั่วทั้งตัว
ซึ่งแน่นอนว่า จะพบมาก และกำเริบขึ้นในช่วงหน้าหนาว
เนื่องจากโรคนี้มีอากาศแห้งเป็นตัวกระตุ้น
คนไข้ด้วยโรคนี้จึงพบมากในเด็กทารก และผู้สูงอายุ
รวมทั้งผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ
หรือมีประวัติว่า คนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้

และที่สำคัญที่สุดก็คือ โรคนี้จะพบบ่อยในเชื้อชาติเอเชียมากกว่าเชื้อชาติอื่น
เนื่องจาก เชื้อชาติเอเชียมักเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้
ซึ่งปกติแล้ว คนกลุ่มนี้ควรจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง
รวมทั้งอาหารจากนมทั้งหลาย เช่น ชีส ซุป น้ำสลัดชนิดข้น โยเกิร์ต ฯลฯ

ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อกระเพาะย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้
ร่างกายก็จำเป็นต้องไปดึงเชื้อยีสต์ในลำไส้มาช่วยย่อยน้ำตาล
ทำให้มีจำนวนเชื้อยีสต์ในร่างกายมากขึ้น จนเรียกว่า Over Growth
เมื่อถูกกระตุ้นด้วยอากาศแห้งในหน้าหนาว
จึงทำให้โรคเซ็บเดิมกำเริบ และเกิดปวดไขข้อได้ง่าย

แพทย์จะรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเซ็บเดิม
ด้วยการออกใบสั่งยาลดการอักเสบ และยาฆ่าเชื้อยีสต์
อย่างไรก็ตาม เราควรจะป้องกันไม่ให้โรคเซ็บเดิมเกิดขึ้น
ด้วยการดูแลผิวพรรณ เพื่อสร้างปราการปกป้องคุ้มครองผิว
โดยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัดๆ
ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในการทำความสะอาดให้เหมาะกับสภาพผิว
เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางอย่างใช้ได้ผลดีในหน้าร้อน
แต่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ในหน้าหนาว

ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคนี้ ผู้ที่เคยมีอาการผิวหนังแห้งจนคันคะเยอ
จึงควรเลือกใช้ครีมเนื้อเข้มข้นชนิด Water in oil ในหน้าหนาวเสียแต่เนิ่นๆ
เพราะน้ำมันในครีมชนิดนี้ จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวได้นานขึ้น
แต่ถ้าอาการคันผิวหนังในหน้าหนาวยังไม่ทุเลาหลังใช้โลชั่นทาผิวปกติแล้ว
คุณก็ต้องพบแพทย์ในทันที

อย่าปล่อยให้โรคเซ็บเดิมได้โอกาสก่อตัวจนลุกลามขึ้น
เพียงเพราะคุณคิดง่ายๆ ว่า ไม่เป็นไร
“ถ้าคัน ก็เกา”
เพราะมันไม่คุ้มกันเลยถ้าคิดจะวางเดิมพัน
ระหว่างผิวพรรณของเรา กับโรคเซ็บเดิม
ด้วยความคิดง่ายๆ เพียงสั้นๆ ว่า
“ไม่เป็นไร”
สุดท้ายนี้ อย่าลืมล้างหน้าให้ถูกวิธี
โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดฟองน้อยที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
ด้วยการใช้น้ำลูบใบหน้าให้เปียกก่อน
แล้วจึงบีบครีมล้างหน้าใส่มือเพื่อให้ครีมเจือจางลง
จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหน้าแห้ง และระคายเคือง
จากนั้นก็ทาครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น

และตามติดด้วยการสร้างด่านปราการสำคัญในหน้าหนาว
ด่านที่ใครต่อใครพากันละเลย
เพราะคิดว่า “ไม่เป็นไร” อีกหนึ่งเรื่อง
นั่นก็คือ ทุกคน “ยังจะ” ต้องใช้ครีมกันแดดแม้จะอยู่ในช่วงหน้าหนาว
ความคิดที่ว่า หน้าหนาวไม่มีแดดนั้นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์
สมควรไปเรียน ป.4 ใหม่ เพราะหน้าหนาวนี่แหละตัวดีเลยค่ะ

เพราะแม้ช่วงเวลาแดดออกจะค่อนข้างสั้น
กระทั่งถึงไม่เห็นแสงแดดจ้าเลยก็จริง
แต่ในทุกช่วงกลางวันไม่กี่ชั่วโมงเหล่านั้น
รังสีอัลตราไวโอเลตชนิด UVA ก็ยังคงทำหน้าที่ “ทำลาย” อย่างเต็มพิกัด
ซึ่งถ้าคุณช่างสังเกตกันสักนิด ก็จะพบความจริงแบบเต็มๆ เลยว่า
หน้าหนาวนี่แหละที่ผิวหน้าของเราหมองคล้ำได้ง่าย และเร็วกว่าปกติ (ซะด้วย)

ทั้งนี้ก็เพราะรังสีชนิด UVA ที่เป็นต้นเหตุของความหมองคล้ำ
ยังคงแฝงเร้นอยู่อย่างเข้มข้นในชั้นบรรยากาศ
และจ้องจะตกกระทบผิวหน้าของเราอยู่อย่างขยันขันแข็งเช่นเดิม
เมื่อเราไม่ใช้ครีมกันแดด เพราะคิดว่า “ไม่เป็นไร ไม่มีแดด”
ก็เท่ากับเราเปิดประตูที่ควรกันข้าศึก
เป็นว่า ให้รุกล้ำเข้ามาส่องรังสีเกินพิกัดร้อยอย่างชนิดช่วยไม่ได้เลยทีเดียว

ดังนั้น จำไว้ค่ะว่า
ถึงจะหน้าหนาว ก็ยังต้องใช้ครีมกันแดด
เลือกครีมกันแดดที่มี SPF ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
เพื่อจะได้กันทั้งรังสี UV ชนิด B ที่มาจากแสงแดดนวลๆ จากแสงไฟนีออน
ซึ่งจะทำให้ผิวไหม้เกรียม
แล้วก็ได้โปรดเลือก PA (Protection Grade of UVA)
ตั้งแต่ 3 บวก (PA+++) ขึ้นไปเพื่อป้องกันรังสี UV ชนิด A
ซึ่งเป็นสาเหตุของความหมองคล้ำ
ที่สำคัญคือ
ต้องเลือกใช้ชนิดซึ่งไม่มี down time ในการสร้างประสิทธิภาพป้องกันด้วยนะคะ

แปลง่ายๆ ก็คือ
เลือกใช้ครีมกันแดดชนิดทาปุ๊บแล้วออกไปสู้ทุกรังสีได้ทันที
เป็นดีที่สุดค่ะ