5.6.08

103.Herpes

‘เริม’ ภัยจากไวรัสที่กำราบได้
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.103

คุณอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคเริมมาก่อน
แต่น่าแปลกที่คนพูดถึงกันน้อย ในขณะที่มีคนเป็นโรคนี้กันมาก
บางคนอาจกำลังสงสัยว่า ติดโรคนี้เข้าให้แล้วหรือเปล่า
เพราะมีคนนับล้าน ที่เคยมีอาการของโรค
และเกิดความรู้สึกผิด หรือวิตกว่า
โรคเริมจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถรักษาโรคเริมให้หายขาดได้
แต่ก็ประคองโรคได้ และสามารถใช้วิธีป้องกันที่จะทำให้โรคนี้
ไม่กลับมากำเริบซ้ำอีกเลย

โรคเริมไม่ใช่โรคใหม่
เพราะมีการบันทึกถึงโรคนี้มาตั้งแต่ยุคโรมันโบราณ
สมัยจักรพรรดิทิเบอเรียส
ซึ่งออกกฎหมายห้ามการจูบกันในที่สาธารณะ
เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคเริมบริเวณริมฝีปาก

แต่ในปัจจุบัน ทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับในอดีต
จึงทำให้การติดเชื้อเริมสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สิ่งนี้คงเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเริมบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์พุ่งสูงขึ้น
จนกลายเป็นหนึ่งในโรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์
ที่พบได้มากที่สุดในปัจจุบัน

เริม คืออะไร
เริมเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสเล็กมากชนิดหนึ่ง
ที่ชื่อ “herpes”
ซึ่งมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวตลอดชีวิตของมัน
คือการเพิ่มจำนวน
โดยมันจะหลอกล่อให้เซลล์ของร่างกายสร้างไวรัสจำนวนมากขึ้นมา
เพื่อให้เชื้อไวรัสเฮอร์ปี่แพร่กระจายไปยังเซลล์ข้างเคียงได้

ซึ่งเชื้อ herpes มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ

Herpes simplex virus 1 (HSV-1)
มักเกิดบริเวณปาก และผิวหนังเหนือสะดือขึ้นไป
ถ้าเกิดที่ปากเรียกว่า Herpes labialis
โรคนี้ไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Herpes simplex virus 2 (HSV-2)
เชื้อชนิดนี้ จะเกิดบริเวณอวัยวะเพศ
และติดต่อโดยเพศสัมพันธ์ เรียกว่า Herpes genitalis
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และอยู่ในชั้นของผิวหนัง
มันจะแบ่งตัว และทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำ
เกิดการอักเสบ
หลังจากนั้น เชื้อจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ปมประสาท ganglia เป็นเวลานาน
โดยที่ไม่มีการแบ่งตัว
จนกว่าจะมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม
จึงจะเกิดการแบ่งตัวทำให้เกิดอาการเป็นซ้ำ

อาการของการติดเชื้อ herpes simplex
เริ่มต้นจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน
ตรงตำแหน่งที่ได้รับเชื้อ บวม มีตุ่มน้ำ ใส สีแดง
ถ้าขึ้นใกล้ต่อมน้ำเหลือง ก็จะทำให้เกิดเป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
ซึ่งอาการการติดเชื้อที่ปาก และที่อวัยวะเพศจะเหมือนๆ กัน
เพียงแต่ขึ้นคนละที่เท่านั้น
โดยอาการจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

การเป็นครั้งแรก Primary Infection
ระยะปลอดอาการ Latency and Shedding
อาการกลับเป็นซ้ำ Recurring Infections

ทุกๆ คนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ herpes simplex
เพราะเชื้อโรคนี้ สามารถติดต่อถึงกันได้ด้วยการสัมผัส
โดยมันจะแทรกเข้าทางเยื่อบุ หรือผิวหนังที่ถลอกเป็นแผล
แล้วก่อให้เกิดผื่นเริมใน 2-20 วันหลังรับเชื้อ

ที่สำคัญ คือ
ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนของการติดเชื้อ herpes simplex ได้
ในผู้ที่ตั้งครรภ์ แล้วได้รับเชื้อนี้อาจจะเกิดการแท้ง
คลอดก่อนกำหนด
เด็กเจริญเติบโตช้า โดยเฉพาะการติดเชื้อใกล้คลอด
นอกจากนั้น หากเชื้อที่อยู่ในระยะ Latency
และเกิดการแบ่งตัว ผู้ป่วยจะเริ่มต้นที่ปวดศีรษะ อาเจียน และมีไข้
หรือรุนแรงถึงขั้นมีโรคแทรกซ้อน ปอดบวม ตับอักเสบ สมองอักเสบ
และถ้ามีการติดเชื้อที่ตา อาจทำให้ตาพร่ามัว
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจจะทำให้ตาบอดได้

การวินิจฉัย
ทำโดยการซักประวัติ และตรวจร่างกาย
เมื่อพบผื่นดังกล่าว ก็จะมีการเพาะเชื้อไวรัส
โดยการนำน้ำใต้ตุ่มใสไปเพาะเชื้อ
และนำเนื้อเยื่อไปส่องตรวจโดยกล้องจุลทัศน์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคเริม?

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลเริม
เพราะอาจแพร่เชื้อไปสู่บริเวณอื่นของร่างกายหรือติดต่อผู้อื่นได้

2.ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หลังเข้าห้องน้ำ
อย่าขยี้ตา

3.เมื่อมีแผลเริมที่ริมฝีปาก ห้ามจูบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก ผู้หญิงมีครรภ์

4.งดการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มมี “อาการเตือน” จนกระทั่งแผลหาย
เพราะเป็นช่วงปล่อยเชื้อถึงแม้ใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่ปลอดภัย 100%