29.6.08

102.Eczema

โรคผิวหนังอักเสบ
ตีพิมพ์ครั้งแรก MT News / issue 147.102


โรคนี้ เกิดจากการอักเสบของผิวหนัง
และสามารถแสดงออกมาได้หลากหลายรูปแบบ
ขึ้นกับระยะของโรค
โดยมีสาเหตุที่เกิดขึ้น ดังนี้

สาเหตุจากภายนอกร่างกาย Exogenous หรือ Contact dermatitis
อันเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสกับผิวหนัง
ซึ่งแบ่งออกเป็น ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis)
พบได้ประมาณ 70-80%
และผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis)
ซึ่งพบได้ประมาณ 20-30%
โดยตัวเลขนี้มาจากการทดสอบภูมิแพ้ ผ่านกรรมวิธี Patch Test

ซึ่งสาเหตุที่เกิดจากภายนอกร่างกายนี้
ผื่นสัมผัสนับเป็นปัญหาสำคัญมากกว่าผื่นระคายสัมผัส
เพราะผื่นสัมผัสเกิดจากสารที่เป็นสาเหตุอันอาจจะมาจากการประกอบอาชีพ
(เช่น โลหะ, ผลิตภัณฑ์ยาง, กาว)
เครื่องสำอาง
(เช่น น้ำหอม, สารกันบูด, น้ำยาย้อม หรือดัดผม)
หรือเกิดจากสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
(เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แม้กระทั่งน้ำยารีดผ้าเรียบ)
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดโอกาสที่จะสัมผัสได้อย่างง่ายดาย
ทั้งยังหลีกเลี่ยงได้ลำบาก

สาเหตุจากภายในร่างกาย Endogenous eczema
เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยโรคในกลุ่มนี้ จะเรียกชื่อ
ตามลักษณะของผื่น สาเหตุที่เกิด และบริเวณที่เป็น
อาทิเช่น
Atopic dermatitis, Seborrheic dermatitis, Discoid
หรือ Number dermatitis เป็นต้น

อาการของผู้ป่วยจากลักษณะของผื่น แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะเฉียบพลัน (Acute stage)
เริ่มต้นเป็นตุ่มแดง, ตุ่มน้ำ อาจมีอาการบวมแดง
และมีน้ำเหลืองด้วย

2. ระยะปานกลาง (subacute stage)
อาการบวมแดงจะลดลง และมีสะเก็ด
หรือขุย ร่วมด้วย

3. ระยะเรื้อรัง (Chronic stage)
ผื่นจะมีลักษณะหนา, แข็ง
และมีลายเส้นของผิวหนังชัดเจนขึ้น (Lichenification)
นอกจากนี้แล้ว
ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันร่วมด้วย
ซึ่งถ้าผู้ป่วยเกา ก็จะยิ่งทำให้เกิดผิวหนังอักเสบมากขึ้น
และเวลาที่อาการของโรคหายไปก็จะทิ้งร่องรอยของรอยด่างดำไว้ได้

การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการรักษาตามระยะของผิวหนังที่เกิดการอักเสบ
เช่น
1. การรักษาในระยะเฉียบพลัน:
จะประคบผื่นด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำยา Burrow 1:40
หรือ Boric Acid 3% วันละ 3-4 ครั้ง
เมื่อผื่นแห้งดีแล้ว ต้องหยุดประคบ
มิฉะนั้นจะแห้งเกินไปจนทำให้ตึงและแตกได้

2. การรักษาในระยะปานกลาง:
ใช้ยาทาสตีรอยด์ตามลักษณะและตำแหน่งที่เป็นผื่น

3. การรักษาในระยะเรื้อรัง:
ใช้ยาทาสตีรอยด์ และหรืออาจผสมพวก Salicylic Acid
หรือในรายที่เป็นผื่นหนาแข็ง ก็อาจจะจำเป็นต้องฉีดยาที่บริเวณผื่นนั้นๆ

ในส่วนของผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคันมากๆ
อาจจะต้องมียารับประทานชนิด Antihistamine ควบคู่ไปด้วย
ส่วนยาทาภายนอกที่มี Antihistamine นั้น ไม่ควรใช้
เพราะยาทาภายนอกชนิดนี้ จะมีโอกาสแพ้ได้มาก

และถ้าเป็นกรณีระยะเฉียบพลันที่รุนแรงมาก
ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยารับประทานชนิด Steroid ร่วมด้วย

การแบ่งระยะโรคผิวหนังอักเสบที่นำเสนอไปเบื้องต้นนั้น
เป็นประโยชน์ในแง่การวิเคราะห์โรค
และรักษาเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ผู้ป่วยยังจำเป็นจะต้องพบแพทย์ผิวหนัง
เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดใด
และมีการดำเนินของโรคเป็นอย่างไร
รวมทั้งเพื่อจะได้รับทราบว่า ควรจะปฏิบัติตนเช่นไรด้วย
เพราะโรคผิวหนังอักเสบส่วนมากนั้น
มักจะเป็นกันนาน แบบค่อนข้างเรื้อรัง
ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจ ก็อาจจะทำให้เกิดความเครียด
ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งทำให้โรคผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ
และอาจนำไปสู่การอักเสบเรื้อรังถาวรได้ในที่สุด